สถิติ
เปิดเมื่อ | 17/01/2016 |
อัพเดท | 17/03/2019 |
ผู้เข้าชม | 635191 |
แสดงหน้า | 849322 |
จำนวนสินค้า | 83 |
|
รีไฟแนนซ์ ย้ายธนาคาร ลดอัตราดอกเบี้ย
แบ่งปันให้เพื่อน
เมื่อ 13/03/2017 อ่าน 14626
| ตอบ 142
การซื้อบ้านเป็นการตัดสินใจที่มาพร้อมกับภาระก้อนใหญ่ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นการวางแผนการเงินเพื่อซื้อบ้านจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายสูงขึ้นครับ และวันนี้ผมก็หยิบเอากลยุทธ์การวางแผนการเงินเพื่อการซื้อบ้านมาฝาก นั่นก็คือ การลดภาระดอกเบี้ยบ้านด้วยการรีไฟแนนซ์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ตอบสนองความต้องการในแต่ละช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัยเริ่มทำงานที่ต้องการความสะดวกในการเดินทางก็อาจจะต้องการคอนโดมีเนียมใจกลางเมือง หรือวัยสร้างครอบครัวที่ต้องการบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ที่มีพื้นที่ไว้รองรับขนาดครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นเมื่อมีทายาทตัวน้อย อีกทั้งเพื่อเป็นที่พักอาศัยหลังเกษียณอายุอีกด้วย
บางคนมีเงินเก็บไว้เพียงพอกับการซื้อบ้านด้วยเงินสด แต่การที่เอาเงินเก็บไปซื้อบ้านก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องได้ ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว เราก็มักจะขอสินเชื่อ อีกทั้งสถาบันการเงินต่างก็แข่งขันกันนำเสนอโปรโมชั่นและแคมเปญต่างๆ ออกมามากมายเพื่อจูงใจและดึงดูดลูกค้า เช่น 0% 6 เดือน หรือ 1% 12 เดือนเป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเวลาของโปรโมชั่นสิ้นสุดลง อัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนเป็นลอยตัว อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย MLR หรือ MRR ซึ่งอยู่ในอัตราที่สูงกว่าช่วงโปรโมชั่นอย่างแน่นอน ทำให้เราต้องแบกภาระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น
กลยุทธ์หนึ่งในการลดภาระดอกเบี้ยและช่วยให้เรามีเงินออมมากขึ้นนั้นก็คือ การรีไฟแนนซ์ นั่นเองครับ ว่าแต่การรีไฟแนนซ์คืออะไร มีวิธีการอย่างไร เราไปดูกันครับ
การรีไฟแนนซ์ หมายถึง การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ก้อนใหม่ โดยใช้สินทรัพย์ตัวเดิมเป็นหลักประกัน การรีไฟแนนซ์ มี 2 รูปแบบ ได้แก่
การย้ายธนาคาร คือ การเปลี่ยนสถาบันการเงินผู้ให้กู้ นั่นคือ ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งใหม่ไปปลดภาระเงินกู้ที่มีอยู่
การขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย คือ การเจรจากับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วการขอปรับลดดอกเบี้ยจะมีสัญญากำหนดไว้ว่า หากมีการรีไฟแนนซ์ในช่วง 3 ปีแรก จะคิดค่าธรรมเนียม 3% ของยอดวงเงินกู้เริ่มแรก หรือวงเงินคงเหลือแล้วแต่กรณีและข้อกำหนดของสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งนี้ หากต้องการรีไฟแนนซ์แบบยอมจ่ายค่าธรรมเนียม ก็ขอแนะนำให้ทำได้เฉพาะในกรณีที่ดอกเบี้ยที่ใหม่ต่ำกว่าที่เดิมมากกว่า 3% ขึ้นไป ดังนั้น รอให้พ้นช่วงที่สัญญากำหนดไว้ก่อน แล้วค่อยรีไฟแนนซ์จะดีกว่า
ถึงจุดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วการรีไฟแนนซ์ด้วยการย้ายธนาคารกับการขอปรับลดดอกเบี้ย แบบไหนดีกว่ากัน ในส่วนนี้ ขอแนะนำว่าให้ลองศึกษาข้อมูลของสถาบันการเงินแต่ละแห่งก่อน เพื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและข้อกำหนดต่างๆ บางแห่งอ้างอิงดอกเบี้ย MRR บางแห่งอ้างอิง MLR ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อัตรา MRR จะสูงกว่า MLR ทำให้สถาบันการเงินอาจเสนอ MRR -0.75% ซึ่งบางทียังแพงกว่า MLR -0.25% ก็ได้ (อัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR อยู่ที่ประมาณ 7.50% และ 6.75% ตามลำดับ) นอกจากนี้ อัตรา MLR และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมประเมินหลักประกันและค่าธรรมเนียมจดจำนอง เป็นต้น
การขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นวิธีที่สะดวกกว่า แต่ไม่แน่นอนว่าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ถูกกว่าสถาบันอื่นหรือไม่ โดยทำเป็นสัญญาแนบท้ายสัญญาเงินกูฉบับเดิมว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย
ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์แบบย้ายธนาคารหรือขอปรับลดดอกเบี้ยก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับอย่างเด่นชัดที่สุดก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแข่งขันของสถาบันการเงินต่างๆ ที่นำเสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงโปรโมชั่นคล้ายกับการขอสินเชื่อเริ่มแรก พูดง่ายๆ ก็คือ การรีไฟแนนซ์ช่วยลดภาระดอกเบี้ยสินเชื่อให้เราจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนน้อยลงนั่นเองครับ
และนี่ก็คือสาระดีๆ เกี่ยวกับการลดภาระดอกเบี้ยบ้านด้วยการรีไฟแนนซ์ที่นำมาบอกเล่ากันในวันนี้ หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์หรือการวางแผนการเงินอื่นๆ ก็สามารถส่งอีเมล์มาปรึกษากูรูของ K-WePlan ได้ที่ k-weplan@kasikornbank.com โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ หรือใครสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและเกร็ดความรู้ทางการเงินอื่นๆ เชิญเข้าไปอ่านได้ที่ www.k-weplan.com ครับ
Credit: ขอบคุณภาพประกอบจาก www.mortgagerefinance.ws
--------------------------------------------------------------
เกร็ดความรู้โดย K-WePlan Guru
|
|
|