การดูแลรักษาบ้าน
ขอบคุณบทความดีๆ จากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
บ้านที่เราอยู่อาศัยทุกวันนี้ มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี ระหว่างที่เราอยู่อาศัย บ้านต้องการ การดูแลบำรุงรักษาที่ไม่แตกต่างจากข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ นั่นคือ
1.ซ่อมแซม เมื่อพบว่าเกิดการชำรุด
2.ซ่อมแซม เมื่อวัสดุอุปกรณ์เสื่อมสภาพ
3.เปลี่ยน เมื่อวัสดุอุปกรณ์หมดอายุการใช้งาน
4.ดูแลบำรุงรักษาให้เกิดความสวยงาม สะอาดตา
ในบ้านของเรามีวัสดุที่นำมาประกอบกันเข้ามากกว่า 1,000 ชนิด วัสดุแต่ละชนิดมีการยืดหดตัวไม่เท่ากัน มีอายุการใช้งานที่ไม่เท่ากัน จึงจำเป็นที่เราจะต้องบำรุงรักษา ดูแลบ้านตลอดเวลา เช่น พบว่า ก๊อกน้ำรั่วซึม ฝักบัวรั่วซึม ก็ต้องรีบซ่อมแซม อาจเปลี่ยนลูกยางภายในก๊อก นี่เป็น 1 ในการดูแลบำรุงรักษา คือ ซ่อม เมื่อชำรุด หรือพบว่าชักโครกมีน้ำไหลตลอดเวลา อาจเกิดจากลูกยางภายในหม้อน้ำชำรุด มีเชือกหรือโซ่กระเดื่องหย่อนเกินไป อย่างนี้ต้องเร่งแก้ไข หากปล่อยไว้จะทำให้เปลืองน้ำมาก ถือว่าเป็นการดูแลรักษา บางกรณีไม่ต้องเร่งแก้ไข สามารถรอเวลาได้ เช่น พบว่าตามมุมวงกบประตู-หน้าต่างมีรอยแตกร้าว อาจจะยังไม่ต้องรีบซ่อม เพราะไม่อันตราย
การอยู่อาศัยในบ้านตามวิถีชีวิตของแต่ละคน แต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่หน้าที่ในการดูแลรักษา ต้องมาจากผู้ที่อยู่อาศัย เพราะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ทุกวัน จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบ้าน ถ้าหากบ้านมีปัญหา เกิดการชำรุดเสียหาย ก็สามารถเห็นได้ทันที
ภาพจาก:www.lamplighternews.org
การดูแลบำรุงรักษาบ้านหรืออาคารตลอดเวลา นอกจากจะทำให้บ้านมีความคงทน แข็งแรงแล้ว ยังจะทำให้บ้านดูใหม่อยู่เสมอ และสามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยได้เต็มที่
การปรับเปลี่ยน ปรับปรุง ต่อเติมบ้านหรืออาคาร ให้เป็นไปตามความต้องการพื้นที่ใช้สอย ก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลบำรุงรักษาบ้าน เช่น การขยายห้องครัว ,ทำห้องน้ำเพิ่ม,ทำศาลาอเนกประสงค์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการ ณ เวลานั้น ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิต เช่น บ้านบางหลังต้องยุบห้องนอนเพราะมีสมาชิกในบ้านแยกครอบครัวออกไป ห้องนอนเดิมอาจจะเปลี่ยนไปเป็นห้องทำงาน หรือเป็นห้องพระก็แล้วแต่ความจำเป็นในบ้าน
การดูแลบำรุงรักษาบ้าน จึงต้องดูแลอยู่ทุกวัน เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลบ้านที่ควรมี แบบ DIY (Do It Yourself) จึงจำเป็นสำหรับทุกบ้าน ที่สำคัญ ๆ อย่างน้อยควรจะมี
1.ค้อน ตอก-ถอน ตะปู
2.คีมปากจิ้งจก
3.ไขควงแบน ไขควงแฉก หลาย ๆ ขนาด
4.ปืนยิงซิลิโคน
5.ประแจปากตายเบอร์ 10,12 และ ขนาดอื่น ๆ
6.ประแจล๊อค
7.เหล็กสกัด
8.ไขควงลองไฟ
9.บันไดอลูมิเนียม
10.ลูกยางปั๊มรูน้ำทิ้ง
11.สายทะลวงท่อ (งูเหล็ก)
12.แปรงขัดพื้น
13.เหล็กโป๊วสี
14.สว่านไฟฟ้า
15.เกรียงใบโพธิ์ ฯลฯ
ส่วนอุปกรณ์ที่ควรมีไว้ประจำบ้าน เช่น
1.ซิลิโคน
2.โพลียูริเทน
3.อะครีลิคกันรั่ว-ซึม
4.ปูนซ่อมอเนกประสงค์
5.เทปพันเกลียวท่อ
6.เทปพันสายไฟ
7.กาว 2 หน้า
8.ตะปูควง , ตะปูขนาดต่าง ๆ
9.พุกพลาสติก ฯลฯ
เครื่องมือยิ่งมีมาก ยิ่งดี เพราะสามารถทำงานได้ง่าย สะดวก และสามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างทันเวลา แต่ต้องจัดเก็บในที่ ๆ หาง่าย หยิบง่าย แนะนำให้หากล่องใส่เครื่องมือ หรือมีห้องเก็บเครื่องมือได้ยิ่งดี
บทความโดย คุณศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคม
บทความ
DIY บำรุงรักษา ซ่อมแซม ปรับปรุง
About the Author